FacebookPinterest

Microclimate กับกุหลาบ

เป็นบทความคัดลอกมาจาก บทความของคุณพจนา นาควัชระครับ มีการปรับแต่งคำเล็กน้อยในเรื่องของคำศัพท์เกี่ยวกับ Microclimate

ไมโครไคลเมทคืออะไร Microclimate คือสภาพอากาศเฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะจุดย่อยๆ มีคนบอกว่ากุหลาบเป็นไม้ที่จุกจิกจู้จี้กับสภาพภูมิอากศ กุหลาบต้อการไมโครไคลเมท

เรารู้กันดีว่าตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป กุหลาบจะเริ่มฟื้นตัว กระปรี้กระเปร่า ดอกสวยขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา ทั้งๆที่ต้นยังไม่ฟื้นจากใบร่วงเพราะโรคใบจุด แต่นั่นไม่เกี่ยวกับไมโครไคลเมท หากเป็นเพราะอุณหภูมิหรืออากาศเย็นที่มาตามฤดูกาล

ก่อนอื่นมาเข้าใจคำ ๆ นี้ให้ละเอียดสักหน่อยก่อน

  • Micro ดูเหมือนทางวิชาการเขาจะแปลว่า "จุล" ซึ่งต้องแปลเป็นไทยอีกทีว่า เล็ก เราจะพบในคำ จุลินทรีย์ กล้องจุลทัศน์ (ไมโครสโคป) 
  • Climate แปลว่าภูมิอากาศ หมายถึงสภาพอากาศของท้องที่หนึ่งๆ เราจะพูดได้ว่า ภูมิอากาศของไทย กับมาเลเซียต่างกัน
  • Weather แปลว่า อากาศ บางทีแปลว่าลมฟ้าอากาศ หมายถึงลักษณะอากาศแต่ละวัน อย่างเช่นจะบอกว่าเช้าวันนี้อากาศดี จะใช้คำว่า Weather
  • Microclimate จึงหมายถึงภูมิอากาศส่วนเล็กมากๆ

ตอนนี้ผมสงสัยว่าที่บ้านผม ด้านที่หันหน้าไปทางเหนือ กับ ข้างบ้านผมที่อยู่ทางทิศตะวันออกนั้น ภูมิอากาศต่างกัน และทำให้กุหลาบกระถางของผมที่เอาไปตั้งไว้ เพื่อทดสอบการไม่พ่นยาด้านตะวันออกตายไปหลายกระถางแล้ว ในขณะที่กระถางด้านเหนือยังไปได้ดีพอสมควร ทำให้เกิดสงสัยว่านี่คือตัวอย่างของไมโครไคลเมทหรือเปล่า คือ ภูมิอากาศต่างกันทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างกันไม่กี่เมตร? พิเคราะห์ดูให้ละเอียด คิดว่าที่ต่างกันก็อาจเป็นเพราะ ด้านเหนือตอนเช้ายังไม่ได้แดด แต่จะไปได้แดดตอนกลางวันและบ่าย ส่วนด้านตะวันออก ได้แดดเต็มที่ตั้งแต่เช้า แต่ไม่ได้แดดบ่าย ถ้าพูดถึงปริมาณแสงก็น่าจะได้ปริมาณใกล้เคียงกัน ส่วนในแง่อุณหภูมิอาจต่างกันได้บ้าง แต่พอมาพิเคราะห์ให้ละเอียด อาจจะไม่ใช่เรื่องไมโครโคลเมทอะไรมากมาย เพราะทางด้านตะวันออก กุหลาบโดนทั้งด้วงและหนอนกินแบบไม่ยอมให้โงหัว สึงหมดแรง และพอโดนโรคเข้าไปหน่อย ก็เลยพาลตายเอาเสียมากกว่า แต่ทางด้านเหนือรู้สึกว่าแมลงและหนอนดุน้อยกว่า หรือเพราะไมโครโคลเมทนั่นเองที่ทำให้แต่ละจุดมีแมลงและหนอนไม่เหมือนกัน?

อีกตัวอย่างหนึ่ง ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ที่สวนกุหลาบของคุณศักดา ภักดี ประธานหนุ่ม (สมัยนั้น) ของกลุ่มฯคนแรก มีกุหลาบอยู่กลุ่มหนึ่งที่มองดูงอกงามดีกว่ากุหลาบต้นอื่นๆ ในสวน จึงเดินไปดู ปรากฎว่าเป็นกุหลาบที่อยู่ใกล้เหมืองหรือลำธารที่มีน้ำไหล คงจะเป็นเพราะว่า กุหลาบได้ความชื้นจากน้ำ จำไม่ได้ว่าเป็นฤดูอะไร แต่คงไม่ใช่ฤดูฝน ดังนั้นอากาศคงแห้ง กุหลาบที่ได้รับความชื้นจากลำเหมือง จึงงอกงามดีกว่า

๒๐ กว่าปีมาแล้วเหมือนกัน สมัยที่เราเพิ่งจะเริ่มปลูกกุหลาบตัดดอกขายกันในเชียงใหม่ มีสวนกุหลาบเล็กๆที่ปลูกอยู่ในบริเวณบ้านที่อยู่ติดแม่น้ำปิง แถววัดเกตุ เจ้าของคือ อาจารย์วัลภา สอนอยู่ที่วิทยาลัยครู บริเวณก็ไม่ได้กว้างขวางอะไรเชื่อว่าไม่ได้แดดเต็มวันด้วยซ้ำ แต่กุหลาบของอาจารย์ก็งอกงามดีเท่ากับที่ปลูกกันที่อื่น ผมตั้งข้อสังเกตว่าคงเป็นเรื่องความชื้นจากแม่น้ำเหมือนกัน

คุณจ๊ากเกอแล็ง คนฝรั่งเศสที่มาดูแลโรงเรือนกุหลาบที่ใหญ่และมีอุปกรณ์ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย (ในขณะนั้น รวมถึงขณะนี้ด้วยถ้ายังทำกิจการอยู่) และเผื่อแผ่วิชาปลูกกุหลาบให้พวกเราอยู่หลายปีบอกว่า พื้นที่แถบใกล้ฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนของฝรั่งเศสปลูกกุหลาบได้ดี เพราะได้ความชื้นจากทะเล ในทำนองเดียวกันที่ในหลวงรัชการลที่ ๕ เสด็จประพาสสวนกุหลาบที่เมืองซานเรโมในประเทศอิตาลี เมืองนี้ก็ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนเช่นเดียวกัน

พื้นที่ปลูกกุหลาบบนดอยที่มีอากาศหนาวเย็น แม้ในความสูงเท่ากัน ก็อาจจะต่างกันได้มาก บางแห่งปลูกแล้วกุหลาบเป็นโรคมาก เพราะอากาศอับไม่ถ่ายเท บางแห่งแสงไม่พอ เพราะพระอาทิตย์ถูกภูเขาบังเสียครึ่งวัน บางแห่งอาจจะลมแรงเกินไป ฯลฯ

ด้วยเหตุที่กุหลาบจู้จี้กับภูมิอากาศอย่างนี้ จึงทำให้การเลือกพื้นที่ให้ถูกใจกุหลาบเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะในเชืยงใหม่ เชียงราย เราไม่มีพื้นที่จะให้เลือกเสียมากกกว่า ตัวอย่างของโรงเรือนปลูกกุหลาบที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดที่คุณจ๊ากเกอแล็งไปดูแลอยู่ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ประสบความสำเร็จในด้านการผลิตเป็นอย่างดี กุหลาบสวย คุณภาพได้มาตราฐาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาดเพราะได้ดอกขนาดเล็ก ซึ่งแม้จะสวยและคุณภาพดีอย่างไร ก็ไม่เป็นที่ถูกใจลูกค้า ซึ่งถือเอาความใหญ่ของดอกมาเป็นคุณภาพ กิจการจึงไม่ประสบความสำเร็จ และต้องเลิกไปในที่สุดอย่างน่าเสียดาย ที่ว่าน่าเสียดายก็เพราะด้วยเหตุผลใดไม่อาจทราบได้ เจ้าของเลือกพื้นที่สร้างโรงเรือนนี้ในพื้นที่ ที่น่าจะร้อนที่สุดในอำเภอแม่แตง ไม่ห่างไปจากบ้านผมเท่าใดนัก หรืออาจจะเป็นเพราะไม่ทราบเรื่องพื้นฐานว่ากุหลาบจะดอกใหญ่ได้ ก่อนอื่นอากาศจะต้องเย็นไว้ก่อน

 

 

ข้อความจาก คุณพจนา นาควัชระ, ข่าวสารกลุ่มกุหลาบเชียงใหม, ฉบับที่ 36/2556, ประจำเดือน มกราคม - ตุลาคม 2556